10 วิธีแก้สะอึก สาเหตุของการสะอึก ทำอย่างไรให้หายเร็ว

0
3512

วิธีแก้สะอึก 10 วิธี และหาสาเหตุของการสะอึก วิธีที่นำมาฝากกันในวันนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ทันทีเมื่อเกิดอาการสะอึก ถ้าพร้อมแล้วเรามาแก้ สะอึก กันที่นี่ !!

วิธีแก้สะอึก สะอึกทั้งวันมันน่ารำคาญ ทำอย่างไรให้หายเร็ว

เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่เคยสะอึก อาการสะอึก (Hiccup หรือ Hiccough หรือ Singultus) นั้นคงไม่มีใครที่เป็นแล้วจะเป็นอยู่ตลอดโดยไม่ยอมหาย แต่กว่าจะหายในแต่ละครั้งก็นานจนแสนจะน่ารำคาญ และวันที่เป็นก็คงจะเซ็งไปทั้งวัน ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าอาการสะอึกเป็นสิ่งที่แม้แต่ร่างกายก็ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ควบคุมไม่ได้ เป็นสิ่งที่เรียกว่า Reflex เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลันและเป็นไปอย่างอัตโนมัติ จึงไม่มีใครที่สามารถป้องกันการสะอึกได้ กลไกของการสะอึกนั้นเชื่อกันว่าเกิดจากมีการรบกวนประสาทของกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครง ทำให้กระบังลมและกล้ามเนื้อดังกล่าวหดตัว ทำให้เกิดการหายใจเข้าตามด้วยการปิดฝากล่องเสียง จึงทำให้เกิดเสียง “อึ๊กๆ” ของการสะอึกขึ้น การสะอึกจะมีความถี่ 4-60 ครั้งต่อนาที โดยจะหายไปเอง แต่ถ้าไม่ทำอะไร กว่าจะหายบางครั้งก็อาจจะกินเวลาเป็นชั่วโมง

วิธีแก้สะอึก

สาเหตุของการสะอึก

การสะอึกอาจมีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงได้หลายอย่างเช่น การกินอิ่มมากเกินไป ดื่มน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มที่มีแก๊ส ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่จัด กินอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัด กินอาหารรสจัด สูดดมควันต่างๆ เข้าไป ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่นยารักษามะเร็ง หรือสภาพจิตใจในขณะนั้น เช่น ความเครียด ตื่นเต้น กังวล กลัว ซึมเศร้า

ส่วนการสะอึกที่เป็นต่อเนื่องยาวนานจนผิดสังเกต หรือการสะอึกที่รักษายาก มีสาเหตุมาจากโรคทางสมองต่างๆ คออักเสบเรื้อรัง กรดไหลย้อน ตับ,ไตวาย หลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือการใช้ยาสลบ

วิธีแก้สะอึก 10 วิธี

โดยทั่วไปแล้วอาการสะอึกจะหายได้เองโดยไม่ต้องทำอะไร แต่หากต้องการหายเร็วขึ้นก็อาจใช้วิธีตามภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งมีให้เลือกหลายสิบวิธี แต่ผู้เขียนได้เลือกเอาบางวิธีที่คิดว่าน่าจะได้ผลและน่าสนใจมา 10 วิธี ดังนี้

สาเหตุสะอึก

วิธีที่ 1

สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ จากนั้นให้หายใจออกช้าๆ เป็นเวลาประมาณ 10 วินาที แล้วดื่มน้ำ

วิธีที่ 2

หายใจในถุงกระดาษหรือถุงพลาสติก โดยนำถุงกระดาษหรือถุงพลาสติกมาครอบจมูกและปากเอาไว้ จากนั้นหายใจจนกว่าจะทนไม่ไหว สาเหตุที่อาการสะอึกหายจากวิธีนี้เพราะร่างกายได้รับคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นนั่นเอง

วิธีที่ 3

แลบลิ้นออกมายาวๆ ซึ่งเดิมเป็นวิธีที่นักร้องจะทำเพื่อกระตุ้นช่องว่างระหว่างเส้นเสียง ซึ่งจะทำให้การร้องเพลงดีขึ้น แต่เมื่อผู้ที่มีอาการสะอึกมาทำ ก็จะเป็นการทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น อาการสะอึกจึงหายไป

วิธีที่ 4

การกินน้ำตาล ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าการกินน้ำตาล เกล็ดน้ำตาลจะเข้าไปทำให้หลอดอาหารเกิดความระคายเคือง และกระบวนการควบคุมการหายใจจะเริ่มต้นการทำงานใหม่ ทั้งนี้หากเลือกวิธีกินน้ำตาล ให้ทดลองกินเพียง 1 ช้อนชาเท่านั้น เพราะกินเข้าไปมากกว่านี้ถ้าจะไม่หาย ก็ไม่หาย และยังทำให้บริโภคน้ำตาลมากเกินไปอีกด้วย

สะอึก

วิธีที่ 5

การกินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาวที่ไม่เจือจาง หรือน้ำส้มสายชูที่หมักจากแอบเปิ้ล จำนวน 1 ช้อนชา จะเป็นการจู่โจมระบบรับรสอาหาร ทำให้ร่างกายตกใจ อาจจะช่วยให้หายสะอึกได้

วิธีที่ 6

การกดจุด เป็นการเบี่ยงเบนระบบประสาทให้เลิกสนใจการสะอึก แล้วหันมาสนใจจุดที่กด โดยเมื่อสะอึกให้ใช้นิ้วชี้กับนิ้วโป้งบีบตรงเนินใต้นิ้วโป้งแรงๆ หรือใช้อีกวิธีหนึ่งคือกดที่ร่องหยักเหนือริมฝีปากบนก็ได้

วิธีที่ 7

ใช้นิ้วมืออุดหูไปด้วย แล้วดื่มน้ำไปด้วย โดยใช้เวลาประมาณ 30 วินาที หรืออาจลองใช้นิ้วกดที่ผิวด้านหลังติ่งหู ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อประสาทมาจากกระบังลม วิธีนี้อาจทำให้กระบังลมผ่อนคลายจนหายสะอึกได้

วิธีที่ 8

การทำให้ตกใจ เช่นการจ๊ะเอ๋โดยไม่ให้รู้ตัว หรือการหลอกให้กลัว ให้โกรธ ให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเบี่ยงเบนความสนใจด้วยคำถามที่ชวนให้คิด เช่น “เด็กที่เจอวันนั้นใส่เสื้อสีอะไร” ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ที่สะอึกลืมสะอึกจนหายสะอึกได้

รักษาสะอึก

วิธีที่ 9

การดื่มน้ำ เชื่อกันว่าถ้าดื่มน้ำรัวๆ 9 อึกติดต่อกัน หรือดื่มน้ำเย็นจัด หรือดื่มน้ำเย็นช้าๆ ไปเรื่อยๆ จะทำให้อาการสะอึกหายไปได้

วิธีที่ 10

การกินยาลดกรด โดยแร่แมกนีเซียมที่อยู่ในยาลดกรดจะเข้าไปลดอาการระคายเคืองของเส้นประสาทที่ควบคุมระบบทางเดินหายใจ ทำให้สามารถหายใจได้ดีขึ้น หลักการนี้คล้ายกับการแลบลิ้นยาวๆ นั่นเอง คือการทำให้การหายใจดีขึ้นก็จะมีส่วนช่วยให้อาการสะอึกหายไปได้

หากใช้วิธีแก้สะอึกที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านทั้ง 10 วิธีที่แนะนำแล้วยังไม่หายสะอึก หรือมีอาการสะอึกเรื้อรังจนผิดปกติ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจจะสั่งยาที่จะลดการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อระหว่างกระดูกซี่โครงลง จนบรรเทาอาการสะอึกลงได้ แต่ยานี้ไม่สามารถไปซื้อเองตามร้านขายยาเพราะอาจมีอันตราย

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (No Ratings Yet)
Loading...