ไข้หวัดใหญ่ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่

0
2116

ไข้หวัดใหญ่ ภาษาอังกฤษ (Influenza) อาการไข้หวัดใหญ่ สาเหตุและวิธีรักษาเบื้องต้น ทั้งไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ a สายพันธุ์ b และสายพันธุ์ใหม่ อ่านข้อมูลได้ดังนี้

ไข้หวัดใหญ่ อาการแบบไหนไม่อันตราย

โรคที่มาพร้อมกับฤดูฝนคงหนีไม่พ้นไข้หวัดที่บางคนโดนฝนนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นหวัดเสียแล้ว โรคหวัดหรือไข้หวัดส่วนใหญ่ไม่อันตราย แค่พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาไปตามอาการก็จะหาย แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่ก็จะเป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว หลายคนต้องนอนโรงพยาบาลหรืออาจถึงกับเสียชีวิตได้จากโรคไข้หวัดใหญ่ การแยกแยะอาการระหว่างไข้หวัดธรรมดากับไข้หวัดใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะได้รักษาให้ทันท่วงทีและไม่เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

อาการไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากหวัดธรรมดาอย่างไร

โรคไข้หวัดธรรมดา (common cold) สามารถเกิดได้จากไวรัสหลายชนิดเช่น กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinoviruses) และ โคโรนาไวรัส (Coronaviruses) ติดต่อด้วยการไอหรือจาม หรือการสัมผัสเชื้อโรค เป็นโรคที่ถือได้ว่าเกิดการติดต่อได้ง่าย ไวรัสเหล่านี้จะเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูก ลำคอ และทำให้เกิดอาการของโรคขึ้น โดยผู้ป่วยจะรู้สึกคัดจมูก มีน้ำมูก จาม เจ็บคอ ไอ อาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ แต่ถ้ามีไข้ก็จะเป็นไข้ต่ำๆ ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นอาการป่วยที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาตามอาการ พักผ่อนมากๆ และดื่มน้ำมากๆ โดยทั่วไปโรคไข้หวัดธรรมดาก็จะหายภายใน 1 สัปดาห์

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza หรือ flu) เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงเฉียบพลัน เกิดขึ้นได้ภายใน 1 วัน เริ่มจากอาการไข้สูง 38-40 องศา และอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีน้ำมูกใส มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณหลัง ต้นขา ต้นแขน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในเด็กอาจอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย สรุปความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่คืออาการไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และความรวดเร็วของการเกิดอาการของโรค ซึ่งไข้หวัดธรรมดาจะค่อยเป็นค่อยไป และมีอาการไอ จาม โดยมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ ในขณะที่ไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงและเกิดอาการอย่างรวดเร็วเมื่อติดเชื้อ ส่วนการติดต่อนั้น ทั้งไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่เหมือนกันคือ ติดต่อผ่านการสัมผัสเชื้อโรค สูดอากาศที่มีเชื้อโรคที่ออกมาจากการไอ จาม ของผู้ป่วย ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น จึงไม่ควรเข้าใกล้ผู้ป่วยเป็นโรคหวัดเหล่านี้

สาเหตุไข้หวัดใหญ่

ไวรัส Influenza ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ยังมีสายพันธุ์แยกย่อยออกไปอีก 3 สายพันธุ์หลักๆ ได้แก่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A, B และ C ซึ่งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A นั้นจะมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมีการระบาดที่กว้างขวาง อีกทั้งยังสามารถกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์แยกย่อยออกไปอีกเรื่อยๆ ได้ ส่วนสายพันธุ์ B นั้นก็สามารถกลายพันธุ์ได้เช่นกันแต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ A ในขณะที่สายพันธุ์ C นั้นมีความรุนแรงต่ำที่สุด จึงอาจจะพอกล่าวได้ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ C มีอันตรายน้อยที่สุด

ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ที่เคยกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ ดังนี้

  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เคยระบาดทั่วโลกเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2461-2462 คร่าชีวิตผู้คนไป 20-40 ล้านราย มีต้นตอจากประเทศสเปนจึงมีอีกชื่อว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 กลับมาระบาดอีกครั้งในชื่อ “ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย” เพราะมีต้นตอจากประเทศรัสเซีย
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 สายพันธุ์ใหม่ปี 2009 ระบาดปี พ.ศ. 2552 เป็นไวรัสสายพันธุ์ H1N1 ที่กลายพันธุ์ สามารถติดต่อได้ทั้งสุกร สัตว์ปีก และมนุษย์ มีความรุนแรงกว่า H1N1 เดิม และมีต้นตอจากประเทศเม็กซิโก แต่คราวนี้ไม่มีชื่อเล่น
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H2N2 ระบาดปี พ.ศ. 2500-2501 ในทวีปเอเชีย คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1 ล้านคน
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H3N2 ระบาดปี พ.ศ. 2511-2512 ในฮ่องกง มีผู้เสียชีวิต 7 แสนราย
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 หรือไข้หวัดนกที่เคยระบาดหนักและเป็นข่าวใหญ่ในช่วงหลังๆ สามารถติดต่อถึงมนุษย์ได้ แต่โชคดีที่การจะติดต่อได้นั้นต้องสัมผัสใกล้ชิดมาก จึงพอที่จะควบคุมโรคนี้ได้
  • นอกจากนี้ ยังมีไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลที่มักจะมาพร้อมกับฤดูฝนและฤดูหนาว แต่เป็นไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไม่รุนแรงถึงชีวิต หากเป็นก็สามารถจะดูแลตัวเองเช่นเดียวกับเมื่อเป็นไข้หวัดธรรมดาก็จะหายเป็นปกติได้

รักษาไข้หวัดใหญ่

การดูแลรักษาตัวเองเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่

  1. หากเรียนให้หยุดเรียน หากทำงานให้หยุดทำงาน แยกตนเองและสิ่งของเครื่องใช้จากผู้อื่น แยกที่นอนจากผู้อื่น
  2. นอนพักผ่อนให้มากๆ ห้ามออกกำลังกาย
  3. ดื่มน้ำมากๆ และอาจดื่มน้ำเกลือแร่ได้เพื่อป้องกันการขาดเกลือแร่
  4. หากต้องการรับประทานยาลดไข้ให้รับประทานพาราเซตามอล ควรงดแอสไพรินสำหรับผู้มีอายุไม่เกิน 19 ปี เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้
  5. ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพราะไม่มีประโยชน์เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส
  6. หากมีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส หรือรับประทานยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลงภายใน 3 วัน ไอมาก มีเสมหะสีเหลืองหรือเขียว ควรไปพบแพทย์
  7. หากมีอาการหอบเหนื่อย ไอมาก นอนราบไม่ได้ หรือเจ็บหน้าอก เหนื่อย หายใจขัด หรือมีอาการชัก ซึม สับสน แขนขาอ่อนแรง ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง ต้องไปพบแพทย์ทันทีเป็นกรณีฉุกเฉิน
  8. ถ้าสงสัยว่าเป็นไข้หวัดนก เช่น มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา หรืออยู่พื้นที่ที่มีการระบาดของไข้หวัดนกภายใน 14 วัน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว
1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (No Ratings Yet)
Loading...