ต่อมทอนซิลอักเสบ อันตรายจากอาการเจ็บคอ สาเหตุและวิธีรักษาป้องกัน

0
8980

ต่อมทอนซิลอักเสบ ภาษาอังกฤษ (Tonsillitis) อาการ สาเหตุ และวิธีรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เรารวบรวมข้อมูลมาให้อ่านที่นี่

ต่อมทอนซิลอักเสบ สาเหตุและวิธีรักษาป้องกัน

เริ่มจากทำความรู้จักกับ ต่อมทอนซิลกันก่อน ต่อมทอนซิล คือเนื้อเยื่อประเภทน้ำเหลือง ซึ่งในที่นี้คือ ต่อมน้ำเหลือง 2 ต่อม ที่อยู่ในช่องปากของเรา (เรายังสามารถพบต่อมทอนซิลนี้ ได้ที่บริเวณช่วงโคนลิ้น และ ในช่องโพรงจมูกด้วย) ส่วนหน้าที่หลักๆของมันก็คือ ตรวจจับและทำลายเชื้อโรคต่างๆก่อนที่เชื้อจะผ่านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งเรียกว่าเป็นด่านแรก ของร่างกายที่จะรับ เชื้อโรคผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหาร และยังมีหน้าที่รอง อีกอย่างก็คือการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ก็ ไม่ใช่หน้าที่หลักสำคัญสักเท่าไหร่ ดังนั้น หากแพทย์มีการวินิจฉัยว่าเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ และจำเป็นต้องทำการผ่าตัดนั้น ก็สามารถทำได้ อย่างไม่ต้องกังวลใจว่าจะทำร่างกายอ่อนแอลง อย่างที่เข้าใจกันทั่วไป ในทางกลับกัน ยิ่งทำให้เราป่วยเป็นหวัดและเกิดอาการป่วยได้น้อยลง เพราะไม่มีเนื้อเยื่อในส่วนที่จะกักเก็บเชื้อโรคเอาไว้อีกแล้ว

ต่อมทอนซิลอักเสบ

ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย อย่างช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ เชื่อว่าหลายคน ที่ต้องเคยประสบกับอาการป่วยไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ โดยมากแล้ว มักจะหายได้เองเพียงแค่เราพักผ่อนให้เพียงพอ และทานยารักษาอาการเบื้องต้นตามปกติ แต่หากอาการเจ็บคอที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่หาย แถมยังมีอาการอื่นๆร่วมด้วยอย่าง เจ็บคอมาก มีไข้หนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ไอน้ำมูกไหล อาการเหมือนคนเป็นหวัด ก็อาจเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่า เราอาจเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบเข้าให้แล้ว ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ร่างกายของเรากำลังส่งสัญญาณเตือนให้เราทำการรักษาตัวและไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการป่วยให้หายขาด ก่อนที่อาการเจ็บป่วยดังกล่าว จะกลายเป็นภาวะเรื้อรัง ซึ่งสามารถลุกลามไปสู่โรคแทรกซ้อนอย่างอื่นได้ สำหรับอาการเจ็บคอแบบไหนที่ควรไปหาคุณหมอ และเสี่ยงกับการจะเป็น ต่อมทอนซิลอักเสบ นั้น ให้เราสังเกตอาการดังนี้

เราจะขอแบ่งอาการของโรคนี้ออกเป็น 2 ชนิดคือ

  1. ต่อมทอนซิลอักเสบแบบไม่มีหนอง คนไข้มักจะมีอาการป่วยทั่วไปเหมือนเป็นไข้หวัด ไอ เสียงแหบ ตาแดง หรืออาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
  2. ต่อมทอนซิลอักเสบแบบมีหนองนั้น จะมีอาการเจ็บป่วยที่หนักกว่า เช่น เจ็บคอมากจนกลืนอาหารยาก, กลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ, รวมทั้งมีไข้สูงแบบเฉียบพลัน, มีอาการหนาวสั่นปวดเมื่อยเนื้อตัว, เบื่ออาหาร หรืออาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย แล้วแต่ความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งหากเรามีอาการเหล่านี้ ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม และยังลดโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงกว่า เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือเชื้ออาจลุกลามจนทำให้เกิดอาการอักเสบในจุดต่างๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น หูชั้นกลางอักเสบ, จมูกอักเสบ, ไซนัสอักเสบ, ปอดอักเสบ หรือ ฝีที่ทอนซิล ซึ่งนอกจากอาการอักเสบที่สามารถแพร่เชื้อลุกลามไปได้ทั่วร่างกายแล้ว เชื้อโรคดังกล่าวยังสามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ทำเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ รวมทั้งยังอาจทำให้ร่างกายของเราเกิดปฏิกิริยาแพ้ภูมิต้านทานตัวเอง และโรคร้ายแรงที่รักษาได้ยาก อย่าง ไข้รูมาห์ติก และหน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหรือไตวาย

สาเหตุต่อมทอนซิลอักเสบ

เมื่อได้ทราบถึงอาการแทรกซ้อนอันน่ากลัวต่างๆของ โรคต่อมทอนซิลอักเสบแบบนี้แล้ว เรามาทำความรู้จักกับอาการและโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่ว่า หากเราหรือลูกน้อยของเรามีอาการดังกล่าว ก็จะได้เข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคที่รักษาได้ยากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบนี้ โดยมากเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียและ การติดเชื้อรา ในกรณีของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอย่าง HIV เป็นต้น

โรคต่อมทอนซิลอักเสบ

มักเป็นในเด็กเล็กถึงเด็กโต โดยพบได้ตั้งแต่เด็กเล็กๆจนถึงเด็กวัยประมาณ 10 ขวบ เพราะในช่วงอายุนี้ ต่อมทอนซิลจะมีหน้าที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่เมื่อเราโตขึ้นต่อมทอนซิลก็จะมีความสำคัญน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมทอนซิลอักเสบก็ยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่วัย 20 ได้บ้างในบางโอกาส แต่จะไม่ค่อยพบเลยในวัยผู้ใหญ่กลางคนไปแล้ว ต่อมทอนซิลอักเสบ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อักเสบจากการติดเชื้อ และกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นแบบที่ไม่ติดเชื้อ สำหรับการอักเสบแบบติดเชื้อโดยมากจะพบว่าเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ”สเตรปโตค็อกคัส ไพโอจีเนส” ซึ่งเจ้าเชื้อร้ายนี้เองที่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่ร้ายแรงหลายอย่างตามมา

รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ

การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบ

การรักษาโรคต่อมทอนซิลอักเสบนั้น ในกรณีที่ไม่สามารถหายได้เอง จากการพักผ่อนและดูแลเบื้องต้นไปแล้ว หากภายใน 7-10 วันแล้วอาการทั่วไปยังไม่ดีขึ้น โดยมากแพทย์จะเริ่มใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องทานยาอย่างเคร่งครัดตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องทานยาให้หมด ร่วมกับการดูแลผู้ป่วยตามอาการ เช่น หากตัวร้อนก็ให้เช็ดตัว, ทานยาลดไข้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นพร้อมกับ มีอาการกลืนอาหารไม่ได้ เจ็บคอมากๆ หรือทอนซิลบวมแดง รวมทั้งเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือมีอาการต่อมทอนซิลโต จนหายใจไม่ออก เกิดภาวะนอนกรน รวมทั้งเกิดภาวะหยุดหายใจเองขณะนอนหลับ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายอาจเกิดแนวโน้มที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมทอนซิลได้อีกด้วย ซึ่งหากมีภาวะร้ายแรงต่างๆที่กล่าวมานี้ แพทย์จะวินิจฉัยให้รักษาด้วยการผ่าตัด

ซึ่งการผ่าตัดต่อมทอนซิลอักเสบ นั้นเป็นสิ่งที่ให้ผลดีและเป็นประโยชน์กับร่างกายเรามากกว่าผลเสีย เพราะหากปล่อยเอาไว้ ก็อาจทำให้เกิดภาวะอักเสบและการติดเชื้อได้ตลอดเวลา ในขณะที่แม้ว่าร่างกายเราจะไม่มีต่อมทอนซิลเพราะทำการผ่าตัดรักษา ในร่างกายของเราก็ยังมีต่อมน้ำเหลือง ซึ่งทำหน้าที่ในการฆ่าเชื้อโรคในร่างกายได้อยู่แล้ว สำหรับการป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบนั้น ใช้หลักการง่ายๆ เช่นเดียวกับการป้องกันเชื้อไข้หวัดทั่วไป คือ การรักษาความสะอาดด้วยการล้างมือบ่อยๆ, ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม, ไม่ใช้ช้อนส้อมหรือแก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเด็กๆที่อาจป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้ง่ายกว่า

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (No Ratings Yet)
Loading...