ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ Lymphadenitis คืออะไร เกิดจากอะไร อาการ สาเหตุ และวิธีรักษาป้องกันเบื้องต้นของต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ที่คอ และที่อื่นๆวันนี้เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น
ทำความรู้จักกับโรค ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
อาการเจ็บปวด บวมโต หรืออาจจะโตมากจนกระทั่งคลำได้เป็นก้อนๆ ร่วมกับอาการร้อนแดงบริเวณต่อมน้ำเหลืองตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกายนั้น มักจะทำให้เราทราบคร่าวๆ ว่า นั่นน่าจะเป็นอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามอาการที่พบได้นั้นอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก ซึ่งต่อมน้ำเหลืองอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และสามารถพบได้ในคนทุกวัยตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ แม้โรคนี้จะดูไม่ร้ายแรงนักแต่ถ้าหากในรายที่อักเสบอันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อโรคอาจลุกลามเข้ากระแสเลือด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่เราควรเรียนรู้อาการ สาเหตุ และวิธีการป้องกัน ตลอดจนรักษาอาการเหล่านี้ให้ทุเลาลงอย่างถูกวิธี
ต่อมน้ำเหลือง หรือ Lymph node คือ เนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม มีลักษณะนุ่มเป็นรูปไข่ก้อนเล็กขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร สามารถเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย โดยจะกระจายอยู่ทั่วไปในทุกอวัยวะยกเว้นสมอง ซึ่งมีหน้าที่สำคัญ คือ ช่วยดักจับสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะเชื้อโรคต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย พร้อมทั้งช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้กับร่างกาย ซึ่งในภาวะที่ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติมักจะคลำไม่พบต่อมน้ำเหลือง เพราะต่อมน้ำเหลืองจะปนไปกับไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ แต่คราใดก็ตามที่ร่างกายอ่อนแอ และติดเชื้อก็มักจะเกิดอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หรือ Lymphadenitis ขึ้นมา ซึ่งภาวะนี้เป็นภาวะที่ต่อมน้ำเหลืองในร่างกายเกิดอาการอักเสบ บวมโต เจ็บ หรือแม้แต่เป็นหนองซึ่ง
สาเหตุที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเกิดจากการติดเชื้อของบริเวณเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด แล้วจึงส่งผลทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเกิดการอักเสบตามไปด้วย โดยที่ไม่มีการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองแต่แรก อย่างเช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัดเยอรมัน และหัด ที่เกิดจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ที่จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่คอทั้งด้านหน้าและด้านหลังคอโต
นอกจากนี้ยังรวมทั้งการอักเสบของบริเวณช่องปากและช่องคอจากเชื้อแบคทีเรีย อาทิเช่น โรคฟันผุ ลิ้นอักเสบ เหงือกอักเสบ กระพุ้งแก้มอักเสบ และต่อมทอนซิลอักเสบ ซึ่งก็สามารถทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคออักเสบตามไปด้วยได้ ในบางกรณีการอักเสบ หรือ การมีบาดแผลและเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลในบริเวณช่วงมือ แขน หน้าอก และเต้านมก็มักจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้อักเสบได้ หรือแม้แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็ส่งผลต่อต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบเกิดการอักเสบเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า มักจะมีการอักเสบร่วมของต่อมน้ำเหลืองเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริเวณอวัยวะแรกอักเสบก่อน ส่วนสาเหตุรองลงมาคือ เกิดจากการติดเชื้อของตัวต่อมน้ำเหลืองเอง ซึ่งการติดเชื้อแบบนี้จะทำให้ต่อมน้ำเหลืองโตและอักเสบพร้อมกันหลายต่อม และมักมีลักษณะคล้ายเส้นลูกประคำ คือในกลุ่มที่เป็น วัณโรคต่อมน้ำเหลือง และโรคเอดส์ โดยจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองที่ติดเชื้อนี้มีลักษณะบวมโต แดง เจ็บ และเป็นหนอง อีกสาเหตุนั้นมักจะเป็นในกลุ่มโรคออโตอิมมูน (Autoimmune) ที่ต่อต้านภูมิต้านทานตัวเอง และในโรคมะเร็ง
ซึ่งลักษณะสำคัญที่สังเกตได้คือ จะไม่ค่อยเจ็บต่อมน้ำเหลือง แต่ต่อมจะโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และมักมีขนาดที่โตมากกว่า 1 เซนติเมตร หรือแม้แต่การแพ้ยาบางประเภทก็ทำให้ให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบได้เช่นกัน ในที่นี้ ขอแนะนำวิธีการป้องกัน รักษาและบรรเทาอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบดังต่อไปนี้
5 ทริคเด็ด รักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบ
- การป้องกันที่ต้นตอ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดต่อมน้ำเหลืองอักเสบ นั่นคือ การติดเชื้อ ดังนั้น จึงควรป้องกันการติดเชื้อโรคด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐานของตนเองให้ดี โดยควรปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ มีการดูแลรักษาความสะอาดผิวหนังให้ดี ไม่ให้เกิดแผลจากการระคายเคืองเพราะผิวแห้งเกินไป หรือการหมักหมมสิ่งสกปรก เป็นต้น ทั้งนี้การรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้ดีก็จะช่วยให้ความเสี่ยงการติดเชื้อลดลง รวมทั้งรักษาความสะอาดเล็บ ตัดสั้นอยู่เสมอ
- บำรุง และเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้สารอาหารที่จำเป็นครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ และโปรตีนที่ย่อยง่าย และหมั่นออกกำลังกายตามสมควร โดยคำนึงถึงสภาพร่างกายเป็นหลัก
- พยายามควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนไม่ผอม อย่างถูกวิธี สามารถพิจารณาคร่าวๆ ได้จากการวัด BMI
- การรักษาต่อมน้ำเหลืองอักเสบจากต้นตอ ในกรณีนี้จะเน้นไปที่การรักษาที่สาเหตุที่ทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ตัวอย่างเช่น หากมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ให้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ จำพวกเช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin), โคอะม็อกซิคลาฟ (Co-amoxiclav) หรือ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) หากอาการดีขึ้นควรให้ยาปฏิชีวนะต่อไปจนครบ 10 วัน แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน ควรกลับไปพบแพทย์ หากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากแผลก็ให้ทำการรักษาแผลนั้นๆ ให้หาย หากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากเชื้อวัณโรค ให้รักษาวัณโรคให้หาย หากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากโรคมะเร็ง ให้รักษาแบบโรคมะเร็ง หากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากฟันผุ ให้รักษาโรคฟันผุให้หายสนิท หากต่อมน้ำเหลืองอักเสบเกิดจากการใช้ยา ให้หยุดยาหรือปรับเปลี่ยนยาทันที และสำคัญที่สุดคือ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และไม่หยุดยาเองแม้เห็นว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
- สุดท้ายเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยตนเอง หลังจากรักษาตามที่แพทย์แนะนำแล้ว เราควรใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ ๆ บริเวณที่เป็น รวมทั้งรักษาความสะอาดของต่อมน้ำเหลืองบริเวณที่เป็น โดยไม่เกา ไม่คลำบ่อย ๆ เพราะจะเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อมากขึ้น
ดังนั้น ทางที่ดีในการป้องกันอาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบที่อาจจะเกิดขึ้นกับทั้งตัวคุณเอง และคนที่คุณรัก อย่าลืมใส่ใจที่จะดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่หลากหลายและถูกสุขลักษณะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพยายามทำให้ตนเองมีสติ มีอารมณ์ที่ดีตลอดเวลา เพียงเท่านี้คุณก็จะห่างไกลจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบแน่นอน