ขมิ้นชัน ภาษาอังกฤษ Turmeric ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma longa ขมิ้นชัน สรรพคุณและประโยชน์ต่อสุขภาพด้านต่างๆที่คุณคาดไม่ถึงทั้ง สุขภาพกาย และสุขภาพผิว เช่น การ ใช้ขมิ้นชันรักษากรดไหลย้อน หรือการใช้ขมิ้นชันพอกหน้าเพื่อบำรุงผิว โดยทั่วไปแล้วขมิ้นชัน มีทั้งชนิดแคปซูลและชนิดผง หรือบางคนอาจนำไปสกัดเป็นครีมพอกหน้า วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับขมิ้นชัน ให้มากขึ้น
ขมิ้นชัน สมุนไพรสารพัดประโยชน์มากสรรพคุณ
Contents
ขมิ้นชันเป็นพืชสมุนไพรตระกูลเดียวกับขิง ลักษณะทั่วไปคือมีเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนเนื้อมีสีเหลืองอ่อนหรือเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอมในแบบเฉพาะตัวตามแบบฉบับพืชสมุนไพร ถิ่นกำเนิดของขมิ้นคือประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกลิ่นที่หอมและช่วยปรุงแต่งสีอาหารให้น่ารับประทาน นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา ทำให้ได้รับความนิยมในการนำขมิ้นไปปรุงอาหารต่างๆ เช่น น้ำยาขนมจีน แกงไตปลา แกงกะหรี่ หรือแกงเครื่องเทศอื่นๆ
ขมิ้นชันมีสารอาหารมากมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสุขภาพ ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไฟเบอร์และยังมีเกลือแร่ต่างๆ นอกจากสารอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ขมิ้นชันยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงสุขภาพและรักษาโรคหลายอย่าง นับแต่สมัยโบราณมีการนำขมิ้นชันมาใช้เป็นยารักษาโรคมากกว่า 5000 ปี โดยมักจะใช้ขมิ้นชันที่โตเต็มที่มาทำยาสมุนไพร เพราะจะอุดมไปด้วยสารเคอร์คูมิน นอกจากนี้ยังต้องเก็บรักษาในที่ร่ม หลบเลี่ยงแสงแดด ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันหอมระเหยสูญเสียไปนั่นเอง
การแปรรูปขมิ้นชันเพื่อนำมาทำยาสมุนไพรนั้นทำได้โดยการล้างเหง้าขมิ้นให้สะอาด จากนั้นหั่นเป็นแว่นโดยไม่ต้องปอกเปลือกแล้วนำไปตากแดดประมาณ 2 วัน เมื่อแห้งดีแล้วสามารถนำมาบดเป็นผงแล้วผสมกับน้ำผึ้งเพื่อปั้นเป็นยาลูกกรอน รับประทานวันละสามเวลาเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย หรือจะนำเหง้าขมิ้นแก่มาบดละเอียดแล้วคั้นน้ำดื่มสดๆ ก็ได้ นอกจากนี้ขมิ้นชันยังสามารถนำมาใช้เป็นยาทาภายนอกเพื่อรักษาแมลงสัตว์กัดต่อย โรคผิวหนังและเพื่อบำรุงผิวได้อีกด้วย
รับประทานขมิ้นชันอย่างไรให้ถูกวิธี
การนำขมิ้นชันมารับประทานอย่างถูกวิธีนั้นทำได้โดยการล้างขมิ้นให้สะอาดแล้วทำตามวิธีทำยาลูกกรอนที่แนะนำไปข้างต้น สามารถรับประทานได้สามเวลาหลังอาหารครั้งละ 2-3 เม็ด หรือจะรับประทานเวลาเช้าและก่อนนอนก็ได้ แต่หากใครที่รับประทานยาลูกกรอนขมิ้นชันแล้วมีอาการจุดเสียดแน่นท้องควรหยุดยาทันที เพราะร่างกายของคุณอาจแพ้ตัวยาและสารจากขมิ้นชัน
ส่วนใครที่ซื้อขมิ้นชันแบบผงหรือแคปซูลมารับประทานเป็นอาหารเสริม สามารถรับประทานจากแคปซูลโดยตรงหรือผสมผงขมิ้นชันปริมาณ 1 ช้อนชาเข้ากับน้ำสะอาดประมาณ 1 แก้ว จากนั้นดื่มทันที ขมิ้นชันที่ชงดื่มจะช่วยล้างไรฝุ่นในลำคอ ช่วยปรับปรุงระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ช่วยบำรุงระบบน้ำเหลือง รักษาแผลในกระเพาะอาหารและยังช่วยสมานแผลในลำไส้ อีกทั้งยังช่วยบำรุงและล้างไขมันในตับอีกด้วย
สรรพคุณของขมิ้นชัน สมุนไพรไทยสารพัดประโยชน์
นอกจากขมิ้นชันจะนิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารประเภทต่างๆ เพื่อใช้แต่งกลิ่นและรสชาติให้น่ารับประทานแล้ว ภูมิปัญญาไทยโบราณยังใช้ขมิ้นชันเพื่อสรรพคุณทางยาอีกด้วย โดยนำส่วนต่างๆ มาใช้ ดังนี้
1. เหง้าขมิ้นชันที่มีรสฝาดและหวาน มีสรรพคุณช่วยแก้อาหารไข้เรื้อรัง แก้โรคผอมเหลือง ช่วยบำรุงและรักษาโรคผิวหนัง หากชงดื่มสามารถลดเสมหะ ลดความดันโลหิต แก้โรคท้องร่วง มีสรรพคุณสมานแผล ปรับธาตุในร่างกายให้เป็นปกติ ขับลม ดีท็อกซ์สารพิษในร่างกาย ชะล้างสารพิษในลำไส้ สมานแผลและเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกรดไหลย้อน ปรับสมดุลร่างกาย ส่วนการใช้เหง้าเป็นยาภายนอกสามารถรักษาอาการตาแดง ผื่นคัน ลดอาการอักเสบของผิวหนังและยังช่วยบำรุงผิวให้สวยผุดผ่อง สะอาดปราศจากเชื้อโรค
2. ขมิ้นชันตากแห้งบดเป็นผง สามารถนำมาเคี่ยวร่วมกับน้ำมันพืชหรือน้ำมันมะพร้าวจะให้ผลดีเป็นพิเศษ นำมาพอกแผลสดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อและสมานแผล
3. ขมิ้นสด ใช้เหง้าล้างสะอาดมาตำผสมกับดินประสิวเล็กน้อย จากนั้นนำน้ำปูนใสมาผสมเป็นเนื้อเดียว นำมาพอกบริเวณบาดแผลสดได้ดี นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณช่วยแก้เคล็ดขัดยอก หรือชงดื่มรับประทานแก้โรคท้องร่วงและโรคบิดได้
นอกจากการนำเหง้าสดมาใช้เป็นยารับประทานและยาภายนอกตามสรรพคุณข้างต้นแล้ว ขมิ้นชันยังสามารถต้านทานโรคมะเร็ง โรคความจำเสื่อม (อัลไซเมอร์) โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดได้ นั่นเพราะในขมิ้นชันมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก จึงช่วยต้านทานโรคร้าย และยังมีส่วนในการต่อต้านเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเติบโตของมะเร็งตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งสำหรับสรรพคุณของขมิ้นชันในการยับยั้งเซลล์มะเร็งนั้นได้มีการทดลองและวิจัยอย่างเป็นทางการแล้วด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งซึ่งกำลังทำการรักษาอยู่ สามารถรับประทานขมิ้นชันสดๆ หรือจะนำมาปรุงเป็นอาหารทานร่วมกับการรักษา จะช่วยบำรุงร่างกายและทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังปลอดภัยเพราะเป็นสมุนไพรธรรมชาติ ปราศจากสาเคมี
ขมิ้นชันมีสรรพคุณที่ใช้เป็นยาบำรุง ยารักษาโรคและใช้เพื่อความสวยความงามมาตั้งแต่โบราณ นับเป็นภูมิปัญญาไทยที่สืบทอดต่อกันมาและยังได้รับการศึกษาวิจัยอย่างจริงจังเพื่อรับรองคุณสมบัติต่างๆ ของขมิ้นชัน ทำให้เราสามารถเลือกนำมารับประทานกันได้อย่างมั่นใจ แทนการใช้ยาหรืออาหารเสริมต่างๆ นอกจากนี้ใครที่มีคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคคนแก่อย่างโรคความดัน โรคหัวใจ โรคอัลไซเมอร์ หรือโรคมะเร็ง ก็สามารถนำขมิ้นชันไปปรุงอาหาร ชงเป็นชาหรือคั้นน้ำดื่มสดๆ เพื่อบำรุงร่างกายและช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคร้ายอย่างมีประสิทธิภาพ
ขมิ้นชัน..แก้โรคกรดไหลย้อนได้
หลายคนพบกับปัญหากรดไหลย้อนซึ่งไปหาหมอมาหลายราย กินยาเท่าไหร่ก็ไม่หายสักที ซึ่งตอนนี้ก็กลัวว่าถ้ากินยายามากไปอาจไม่เป็นผลดีต่อร่างกายได้ วันนี้จึงขอแนะนำขมิ้นชันสมุนไพรสารพัดประโยชน์ซึ่งหลายท่านได้ลองแล้วพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ดีเยี่ยม
การกินขมิ้นชันเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน
การกินควรกินก่อนอาหาร สัก 1-2 ชั่วโมง 4 มื้อ โดยแบ่งเป็น มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น และก่อนนอน ขนาดที่ควรกินคือ ครั้งละ 1 ช้อนชาสำหรับแบบผง หรือ ถ้าเป็นเม็ดครั้งละ 3 เม็ด (เม็ดละ 500 มก) ขมิ้นชันยังมีประโยชน์ช่วยบำรุงถุงน้ำดี ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย
ขมิ้นชันจัดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง เพราะจากการศึกษานั้นพบว่าขมิ้นชันไม่มีพิษร้ายแรงเฉียบพลัน นอกจากการกินขมิ้นชันแล้วผู้ป่วยกรดไหลย้อนควร ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร เพราะจะช่วยให้ร่างกายหายเร็วขึ้นและไม่กลับมาเป็นโรคนี้อีก
ข้อควรระวังในการใช้ขมิ้น
ขมิ้นทำให้แท้งได้ในระยะแรกๆ ของการตั้งครรภ์ แต่ไม่มีผล ต่อการตกไข่ ดังนั้นจึงควรระวังในการใช้กับหญิงมีครรภ์ เพราะการใช้ขมิ้นในขนาดสูงๆ อาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้การใช้ขมิ้นนานๆ อาจเกิดฤทธิ์ข้างเคียงได้ เช่น อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด งุ่นง่าน ตื่นกลัว เป็นต้น
จะเห็นว่าขมิ้นเป็นสมุนไพรที่มีประสิทธิภาพในการรักษา และจากการวิจัยก็ไม่พบพิษที่เกิดเฉียบพลัน คนไทยโดยเฉพาะคนภาคใต้รับประทานขมิ้นเป็นอาหารกันมานานแล้ว อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ใช้ขมิ้นชันในโครงการสาธารณสุขมูลฐานอีกด้วย จึงนับว่าขมิ้นเป็นสมุนไพรที่น่าใช้และน่าปลูกชนิดหนึ่ง