โรคกรดไหลย้อน GERD คืออะไร อาการ สาเหตุ วิธีรักษาเป็นอย่างไร สามารถกินอะไรได้บ้าง โรคกรดไหลย้อนหายขาดได้หรือไม่ วันนี้เรามาไขข้อสงสัยของโรคกรดไหลย้อนกัน
อาการที่บ่งบอกว่า คุณเป็นโรคกรดไหลย้อน และวิธีการรับมือกับมัน!
Contents
- 1 อาการที่บ่งบอกว่า คุณเป็นโรคกรดไหลย้อน และวิธีการรับมือกับมัน!
- 1.1 อาการที่บอกว่าเราอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน
- 1.2 เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?
- 1.3 ปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- 1.4 สาเหตุที่ทำให้เราเป็นโรคกรดไหลย้อน
- 1.5 วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อน
- 1.6 วิธีการรักษาภาวะกรดไหลย้อนด้วยการใช้ยา
- 1.7 ข้อปฏิบัติตัวซึ่งจะช่วยลดการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
- 1.8 การป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
ในปัจจุบันนี้ การใช้ชีวิตของผู้คนที่เร่งรีบ และด้วยพฤติกรรมการทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือสำหรับบางคนที่มีนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เป็นที่มาให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ที่อาจดูเหมือนไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะเกิดความทรมานเป็นอย่างมาก แถมยังแฝงอันตราย จากโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้อีก วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น เพื่อรู้เท่าทันทั้งการรักษา และการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้ป่วยเป็นโรคดังกล่าว
อาการที่บอกว่าเราอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน
- อาการเบื้องต้นที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยนั้น มักเริ่มจาก ท้องอืด แน่นท้อง รู้สึกคลื่นไส้อยากอาเจียน หลังมื้ออาหาร หรือ หลังจากที่ทานอาหารเข้าไป
- มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอกขึ้นมาถึงลิ้นปี่ และบางกรณีอาจมีอาการขึ้นไปถึงบริเวณคอ ซึ่งอาการดังกล่าวมักจะเป็น หลังจากรับประทานอาหารมื้อหนัก,ตอนนอนหงาย หรือขณะที่โน้มตัวไปข้างหน้า รวมทั้งขณะที่กำลังยกของหนัก
- มีอาการเจ็บหน้าอก จุกอก คล้ายอาหารไม่ย่อย รวมทั้งอาจรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งติดอยู่ในลำคอ อยากจะกระแอมออก แสบช่องคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง หรืออาจมีอาการ หืดหอบ เสียงแห้ง ไอแห้ง และเจ็บคอ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจาก กรดที่ไหลขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดอาการกล่องเสียงอักเสบ
- โดยมากในช่วงเช้าผู้ป่วยจะรู้สึกว่ามีน้ำรสเปรี้ยว(ของกรดในคอ) หรือ รสขม(จากน้ำดี) ไหลย้อนขึ้นมาในปาก ซึ่งอาจมีอาการเรอร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้เกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร และเป็นเหตุให้ หลอดอาหารอักเสบ หรือมีเลือดออกในหลอดอาหาร ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการ กลืนลำบาก กลืนเจ็บหรือติดขัด
- สำหรับในเด็กเล็กนั้น ถือว่าเป็นโรคที่อันตรายอย่างมาก ซึ่งอาการของเด็กเล็กอาจเริ่มจาก อาเจียนบ่อยๆหลังมื้อนม, น้ำหนักและการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์, มีอาการหืดหอบเวลานอน, อาการปอดอักเสบเรื้อรัง หรือในเด็กบางราย อาจมีปัญหารุนแรงถึงขั้นเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับได้
เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?
- มีอาการปวดร้อนในหน้าอกบ่อยขึ้น หรือ มากกว่า 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์
- กลืนอาหารลำบาก หรือ กลืนแล้วรู้สึกเจ็บ เหมือนมีก้อนอาหารหรือบางสิ่งติดอยู่ในลำคอ
- คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากอาการหนักขึ้นจนอาเจียนเป็นเลือด หรือ อาเจียนมีสีดำ
- รับประทานยาลดกรดแล้วยังไม่ดีขึ้น
- เจ็บหน้าอก กราม แขน และขา ลมหายใจขาดห้วง ชีพจรไม่ปก ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณอันตรายให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
ปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุ ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
การรับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ความเครียด
หรือแม้กระทั่ง การนอนเอนหลังทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ ตลอดจนการสวมเสื้อผ้าคับๆ และรัดเข็มขัดแน่นๆ เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เราเป็นโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดจากการที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาทางหลอดอาหาร อันเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณปลายหลอดอาหาร (LES) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนทำงานผิดปกติ เช่น ปิดไม่สนิท หรือเปิดบ่อยเกินไป ภาวะเช่นนี้เป็นผลให้เกิดอาการที่เรียกกันว่า Heartburn นั่นคือความรู้สึกจุกแน่น ปวดแสบปวดร้อนบริเวณหน้าอกไปจนถึงลิ้นปี่ รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในคอ โดยอาจมีอาการเวียนหัวและคลื่นไส้ร่วมด้วย
ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายกรณี ส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทาน เช่น รับประทานมื้อใหญ่เกินไป รับประทานอาหารทอดหรือมันมาก รับประทานอาหารรสจัด ทานอาหารแล้วเข้านอนทันที และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุหรี่ อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นโรคหอบหืด โรคอ้วน หรือมีความเครียด ก็มีโอกาสเกิดอาการ Heartburn ได้เช่นกัน
วิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อน
- การรักษาด้วยยา เพื่อลดปริมาณกรด ในกระเพาะอาหาร และเพิ่มการเคลื่อนตัวของระบบทางเดินอาหาร การรักษา อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 1-3 เดือน ดังนั้น จึงต้องรับประทานยา อย่างต่อเนื่อง
- รักษาโดยการผ่าตัด การรักษาโรคกรดไหลย้อน ด้วยวิธีนี้ จะทำในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น ซึ่งหากรักษาด้วยยา แล้วยังไม่ดีขึ้น หรือไม่สามารถทานยาได้
วิธีการรักษาภาวะกรดไหลย้อนด้วยการใช้ยา
การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและอายุของผู้ป่วย แพทย์อาจจะแนะนำให้ทานยาเพื่อลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหารในระยะเบื้องต้น
- เบื้องต้น เภสัชหรือแพทย์อาจจ่าย ยาลดกรด(antacids) ซึ่งยาชนิดนี้จะทำให้กรดไม่ไหลย้อนเข้าหลอดอาหาร สามารถใช้กับผู้ป่วยเด็กได้เนื่องจากเป็นยาน้ำ เช่น cimetidine (Tagamet), ranitidine (Zantac), famotidine (Pepcid) หรือ nizatidine (Axid) *(ชื่อสามัญ – ชื่อทางการค้า)
- ลำดับที่สอง จะเป็นการใช้ตัวยาที่ทำให้กระเพาะอาหารหยุดการผลิตกรด ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร คือยาในกลุ่ม proton-pump inhibitors (PPIs) ซึ่งจะทำให้ไม่มีการผลิตกรดในกระเพาะอาหารเลย ซึ่งตัวยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง อย่าง อาการท้องผูก คลื่นไส้ และปวดศีรษะ
- ลำดับที่สาม คือการให้ยา prokinetic agents เป็นยาในกลุ่ม Prokinetic agents ซึ่งตัวยาดังกล่าวจะทำหน้าที่ ช่วยให้หูรูดกระเพาะอาหารปิดได้สนิท ไม่เกิดสภาวะไหลย้อนของกรด ซึ่งมักใช้ร่วมกับยากลุ่มที่ 1 คือยาลดกรดนั่นเอง
ข้อปฏิบัติตัวซึ่งจะช่วยลดการเกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
- อย่าทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป และห้ามเข้านอนทันทีที่ทานอาหารเสร็จ ควรรออย่างน้อยสัก 2-3 ชั่วโมง จึงเข้านอน
- เลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม กาแฟ เครื่องดื่มช็อคโกแล็ต หรืออาหารที่มีไขมัน หรือน้ำผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ซึ่งจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดสูง
- นอนยกศีรษะให้สูง 6-8 นิ้ว โดยการใช้สิ่งของรองเตียงให้ยกสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมากแล้วการใช้หมอนหนุนให้สูงมักไม่ได้ผล เพราะทำให้ช่วงลำตัวพับงอเกินไป เลี่ยงการนอนราบ
- ออกกำลังกายโดยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง จะช่วยให้การบีบรัดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหารทำงานได้ดีขึ้น (ในรายที่อาการไม่หนักมาก)
การป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
- ไม่ควรนอน หรือเอนกายทันที หลังมื้ออาหาร
- ทานอาหารในแต่ละมื้อแค่พอประมาณ อย่าทานให้อิ่มจนเกินไป
- เลี่ยงเครื่องดื่มอย่าง กาแฟ ชา หรือ น้ำอัดลม ซึ่งอาจทำให้เกิดกรดในกระเพาะ
- เลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง ของทอด หรืออาหารรสจัด
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับแน่นจนเกินไป
- รักษาสุขภาพให้ดี ไม่ให้อ้วนเกินมาตรฐานทั่วไป และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควบคุมอารมณ์ ให้แจ่มใส ไม่เครียด