โรคลมพิษ (Urticaria) ลมพิษคืออะไร ลมพิษเกิดจากอะไร อาการลมพิษ เราเขียนข้อมูลเกี่ยวผื่นลมพิษ และวิธีรักษาโรคลมพิษ สามารถรักษา ผื่นบนตัว ใบหน้า และ แขน ดังนี้
ลมพิษภัยร้ายใกล้ตัวคุณ
โรคลมพิษนั้นเป็นโรคที่มองดูแล้วน่ากลัว เนื่องจากจะเกิดในบริเวณของผิวหนัง โดยจะปรากฏอาการของผื่นที่บวมและนูนออกมาจากผิวหนัง ซึ่งผื่นที่ว่านี้จะบวมและมีสีขาวแต่ขอบจะเป็นสีแดง และมักมีอาการคันร่วมด้วย ในกรณีที่เป็นมากก็จะมีอากรปวดแสบปวดร้อนในบริเวณที่เป็นอีกด้วย ซึ่ในความเป็นจริงลมพิษนี้ไม่ใช่โรคแต่อย่างใด แต่เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการแพ้ ไม่ว่าจะเป็นแพ้อากาศ แพ้อาหาร แพ้เกสรดอกไม้ เป็นต้น
ลมพิษคืออะไร?
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นว่า ลมพิษนั้นมีสาเหตุหลักๆมาจากอาการแพ้ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นและหายไปได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่วันในกรณีที่ไม่มีโรคแทรกซ้อน โดยจะพบมากในช่วงอายุ20-40ปี และมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ยกเว้นในบางรายอาจมีอาการเป็นๆหายๆเนื่องจากว่ามีโรคภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัว
ลมพิษมีกี่ประเภท
ลมพิษนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษจากการแพ้ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา แมลงกัดต่อย ติดเชื้อ ฯลฯ มักพบในเด็ก
2. ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) คือ มีอาการผื่นลมพิษอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และเป็นต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป[ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. “โรคลมพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [16 มี.ค. 2016].] (บางตำราใช้ระยะเวลา 2 เดือนเป็นเกณฑ์ ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง[หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ลมพิษ (Urticaria)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1001-1004. 1]
สาเหตุของลมพิษ
ลมเป็นพิษนั้นจัดว่าเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง โดยสาเหตุการแพ้มักมาจาก
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้อาหาร เช่น หอย กุ้ง สัตว์ทะเลต่างๆ เนื้อสัตว์ต่างๆ ถั่ว ไข่ เป็นต้น
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้สารประกอบในอาหาร เช่น ผงชูรส สีผสมอาหาร สารกันบูด ฯลฯ
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพนิซิลลิน ฯลฯ
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้พิษจากแมลง เช่น ต่อ แตน ยุง มด ผึ้ง ฯลฯ
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้ฝุ่น ละออง เกสรพืช ไรฝุ่น
- ลมพิษที่เกิดจากการแพ้สารเคมี เช่น เครื่องสำอาง สบู่ แชมพู ยาฆ่าแมลง ฯลฯ
นอกจากสารอื่นๆภายนอกร่างกายที่อาจก่อให้เกิดลมพิษได้แล้วนั้น ปัจจัยภายในคือร่างกายของผู้ป่วยเองก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดลมพิษได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ลมพิษที่เกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการออกกำลังกาย
- ลมพิษที่เกิดจากโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ฯลฯ
- ลมพิษร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง เอสแอลอี โรคของต่อมไทรอยด์ ฯลฯ
ในรายที่เป็นลมพิษแบบเรื้อรัง มักไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด และนอกจากนี้ลมพิษเองก็ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแพ้แสงแดด แพ้ความร้อน แพ้ความชื้น แพ้ความเย็น แพ้เหงื่อ แพ้แรงดัน แพ้แรงกด ฯลฯ ซึ่งอาการลมพิษในคนไข้บางรายนั้นก็ไม่สามารถตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจนได้ แม้ว่าแพทย์จะได้พยายามตรวจหาสารที่แพ้ หรือสาเหตุที่แพ้ นอกจากนี้ความเครียดของผู้ป่วย ก็ยังอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดลมพิษเรื้อรังได้ด้วย ซึ่งารมณ์วิตกกังวลนี้มีส่วนที่ทำให้ลมพิษกำเริบขึ้นมาได้ในผู้ป่วยบางราย เนื่องจากเมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะเครียด ร่างกายจะมีการหลั่งของสารเคมีบางชนิดขึ้นมา ซึ่งสารเคมีนั้น ๆจะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารฮิสตามีน(สารแพ้)ออกมา ซึ่งสารฮิสตามีนนี้เองเป็นสารที่ทำให้เกิดลมพิษ
อาการของลมพิษ
อาการของลมพิษนั้นมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันทันที โดยจะปรากฏผื่นเป็นวงนูนสีแดงขนาดต่างๆบนผิวหนัง เนื้อในวงจะนูนขึ้นมาทำให้เห็นว่าเนื้อนูนนั้นเป็นสีขาวซีด ในขณะที่เนื้อรอบๆขอบนูนจะเป็นสีแดงเป็นวงรอบเนื้อนูนๆนั้น โดยลมพิษนั้นสามารถเกิดขึ้นบนผิวหนังได้ทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า ลำตัว แขน ขา และส่วนอื่นๆ ซึ่งเมื่อเกิดลมพิษ ผู้ป่วยจะมีอาการคันตามผิวหนังในบริเวณที่เป็น ยิ่งเกาก็ยิ่งลามเพิ่มขึ้น และอาจมีไข้ร่วมด้วย ในบางรายที่เป็นมากจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือร้อนผ่าวๆในบริเวณที่ผื่นขึ้นด้วย ซึ่งอาการลมพิษนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง หรืออาจจะหายไปเพียงในเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ได ซึ่งผื่นลมพิษนี้มีโอกาสกลับมาเป็นได้อีก โดยอาจจะขึ้นในบริเวณเดิมหรือในบริเวณใหม่ก็ได้ แต่ในรายที่เป็นมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการคัน แต่จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนเป็นอย่างมากร่วมกับอาการบวม ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นในบริเวณคออาจทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตได้
วิธีรักษาและป้องกันลมพิษ
- ทำลายหรือหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
- รับประทานยาแก้แพ้ (Antihistamine) ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine), ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine), ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) โดยให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด ถ้ายังมีอาการให้กินซ้ำได้ทุก 4-8 ชั่วโมง แต่ในกรณีที่เป็นมากหรือกินยาไม่ได้ ให้ใช้ยาฉีดแก้แพ้แทนโดยฉีดครั้งละ 1/2-1 หลอด
- พกยาแก้แพ้ติดตัวไว้เสมอ และรับประทานตามแพทย์สั่ง
- ไม่แกะหรือเกาที่ผิวหนังเพราะอาจติดเชื้อและแพ้ได้ ควรใช้คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) ทาเพื่อช่วยลดอาการคันแทน
- รักษาโรคทางกายที่เป็นสาเหตุของลมพิษโดยพบแพทย์และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
- งดอาหารที่มีแนวโน้มที่จะทำให้แพ้ เช่น อาหารปรุงแต่ง อาหารสำเร็จรูปต่างๆ อาหารทะเล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อขับสารพิษที่ออกไปทางไต
- ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด
จากข้างต้นคงจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคลมพิษพอสมควรแล้ว ดังนั้นอย่าลืมปฏิบัติตามข้อแนะนำ เพื่อให้เราห่างไกลจากโรคลมพิษ เพราะป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไขเสมอ