โรคเกาต์ อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคเก๊าท์ ที่ทุกคนต้องรู้ !!

0
4714

โรคเกาต์ ภาษาอังกฤษ (Gout) อาการ สาเหตุ และวิธีรักษาโรคเกาต์ การป้องกันโรคเกาต์ คนเป็นโรคเกาต์ห้ามกินอะไร อาหารของคนเป็นเกาต์ วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

โรคเกาต์ อายุเริ่มมากโรคเกาต์ถามหาป้องกันอย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองไทยเราเป็นประเทศที่บริโภคไก่มากที่สุดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดข้างทางหรือตามร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อดัง ซึ่งการกินไก่มากๆ ผู้เขียนก็ไม่ได้รังเกียจอะไร เพียงแต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มได้ยินเสียงจากคนรอบตัวในหลายๆ ครั้งว่า กินไก่ไม่ได้ทั้งที่อยากกิน เพราะปวดเกาต์ โรคเกาต์คืออะไรกันแน่ ทำไมคนอายุ 30 ปลายๆ ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ชายต้องปวดเกาต์ แล้วเกี่ยวอะไรกับไก่ เพราะอะไรกินไก่ถึงปวดมากขึ้น เรามาลองศึกษากันดูครับ

รักษาโรคเกาต์

โรคเกาต์คืออะไร

โรคเกาต์ (Gout) คือโรคข้ออักเสบแบบไม่ติดเชื้อที่มักเกิดกับผู้ชายอายุ 40 ปีขึ้นไป (จะเป็นมากกว่าผู้หญิงถึง 3-4 เท่า) ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นกับข้อๆ เดียว แต่ก็มีบ้างที่เกิดขึ้นกับหลายข้อต่อ ส่วนใหญ่จะเป็นกับข้อเล็กๆ เช่น ข้อกระดูกฝ่ามือหรือฝ่าเท้า แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกันที่ข้อกระดูกฝ่าเท้าตรงหัวแม่โป้ง

โรคเกาต์เกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคเกาต์เกิดจากการสะสมของกรดยูริคอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จนกรดเหล่านั้นตกผลึกที่เรียกว่ายูเรต ซึ่งยูเรตจะไปเกาะตามข้อต่างๆ จนทำให้เกิดอาการอักเสบ บวม แดง ร้อน แต่ผู้ที่มีกรดยูริคในร่างกายสูงก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรคเกาต์ทุกคน ในทางกลับกัน ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ก็ไม่ได้จำเป็นจะต้องมีกรดยูริคในร่างกายสูงเช่นกัน เพียงแต่กรดยูริคเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผลึกที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์เท่านั้น

กรดยูริค สาเหตุของโรคเกาต์ มาจากไหน

กรดยูริคที่เป็นสาเหตุของโรคเกาต์ เป็นผลมาจากการเผาผลาญสารพิวรีน (Purine) ที่มีอยู่มากในสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน และเป็นผลมาจากการสลายตัวของเซลล์ในร่างกาย ดังนั้น เมื่อบริโภคไก่หรือเครื่องใน จึงเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเกาต์นั่นเอง ทั้งนี้เมื่อบริโภคอาหารที่มีสารพิวรีนมากก็จะมีกรดยูริคตกค้างอยู่ในร่างกายมากตามไปด้วย จนอาจมากเกินกว่าที่ระบบทางเดินอาหารหรือไตจะสามารถขับออกไปได้หมด กรดยูริคที่เหลือตกค้างก็จะสามารถตกผลึกอยู่ตามข้อได้ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

สาเหตุโรคเกาต์

สาเหตุอื่นๆ ของการเกิดโรคเกาต์

  • สาเหตุทางพันธุกรรม มีแนวโน้มที่หากญาติเป็นโรคเกาต์ เราก็อาจจะเป็นด้วย
  • เพศ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เพศชายมีโอกาสเป็นโรคเกาต์มากกว่าเพศหญิง
  • อาหารที่หมักด้วยยีสต์ เช่น ขนมปัง ทำให้มีกรดยูริคในเลือดสูง
  • การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้มีการขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะลดลง จึงทำให้กรดยูริคเหลือตกค้างอยู่ในร่างกาย
  • ความอ้วน
  • การได้รับความบาดเจ็บบริเวณข้อ
  • อากาศเย็น หรือช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่นช่วงเช้า หรือก่อนฝนตก
  • โรคในต่อมไร้ท่อบางโรคก็มีผลทำให้มีกรดยูริคในเลือดสูง เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ

อาการโรคเกาต์

อาการของโรคเกาต์

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรง โดยข้อที่มักจะเป็นกันมากคือนิ้วโป้งหัวแม่เท้า ข้อที่ปวดจะบวมและเจ็บมากจนเดินไม่ไหว และผิวหนังในบริเวณนั้นก็จะตึง บวม แดง ร้อน และเจ็บมาก บางรายเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว ผิวหนังบริเวณข้อที่เป็นจะลอกและคันด้วย

หากปวดครั้งแรก อาการจะค่อยๆ หายไปเองภายในไม่กี่วัน แม้ไม่ได้รับการรักษา โดยมักจะเกิดขึ้นครั้งแรกในวันที่ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารมากกว่าปกติ เดินสะดุด หรือได้รับความเครียดทางจิตใจ

หากเป็นเกาต์แล้วไม่ไปรับการรักษา อาการจะกำเริบทุกๆ 1-2 ปี ที่ข้อเดิม แล้วจะเป็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุกๆ 3-4 เดือน กลายมาเป็นทุกสัปดาห์ แล้วอาจจะปวดได้ตลอดเวลา ส่วนข้อที่เป็นจากที่เคยเป็นข้อเดียวก็จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนข้อที่เป็นบ่อยๆ ผลึกยูเรตจะเข้าไปสะสมมากจนกลายเป็นปุ่ม เมื่อปุ่มใหญ่ขึ้นอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นแตกออกกลายเป็นแผลเรื้อรัง และทำให้ข้อนั้นๆ ใช้การไม่ได้

โรคเกาต์

การป้องกันและรักษาโรคเกาต์

เมื่อดูจากสาเหตุของโรคเกาต์ วิธีป้องกันก็น่าจะเป็นการควบคุมอาหาร โดยไม่รับประทานอาหารที่มีพิวรีนมาก เช่นสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ เนื้อแดง อาหารทะเล ยีสต์ พืชผักหน่ออ่อนหรือยอดอ่อน เป็นต้น รวมถึงลดการดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังเพื่อไม่ให้มีภาวะอ้วน

ส่วนการรักษาโรคเกาต์นั้น หากเป็นระยะแรกแพทย์จะให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด งดอาหารที่จะเพิ่มกรดยูริคในกระแสเลือด งดการดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งต้องดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้ขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะด้วย แต่หากรักษาตามวิธีเหล่านี้แล้วยังไม่ดีขึ้นก็ต้องพบแพทย์เพื่อรับยาลดกรดยูริคเป็นกรณีพิเศษต่อไป ทั้งนี้ไม่ควรซื้อยาลดกรดยูริคมารับประทานเองเพราะจะไม่ได้รับการตรวจติดตามอาการ เช่น ระดับกรดยูริกในเลือด ข้ออักเสบที่กำเริบหลายๆครั้ง จะทำให้มีการเสื่อมของข้อตามมาได้

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (No Ratings Yet)
Loading...