กระเทียม สรรพคุณและประโยชน์ของกระเทียม 8 ข้อ ที่น่าทึ่ง !!

0
9389

กระเทียม ภาษาอังกฤษ Garlic ชื่อวิทยาศาสตร์ Allium sativum Linn. ประโยชน์ของกระเทียม สรรพคุณของกระเทียม กระเทียมประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายกว่าที่คุณคิด

กระเทียม สมุนไพรกลิ่นฉุน แต่อุดมด้วยประโยชน์

หนึ่งในสุดยอดเครื่องปรุงที่ถือว่า เป็นสมุนไพรชั้นเอกที่มีกลิ่นฉุนเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งบางคนอาจจะร้องยี้พร้อมกับอุดจมูกเพราะเหม็นกลิ่น แต่ในขณะที่บางคนกลับปลาบปลื้มยินดีที่ได้กลิ่น หรือ ได้กินเจ้าสมุนไพรตัวนี้เข้าไป เชื่อว่า ขณะนี้หลายต่อหลายคนพอที่เดาออกกันแล้วว่า เจ้าสมุนไพรนั้น นั่นคือ อะไร และกระเทียมก็คือ คำตอบสุดท้ายนั่นเอง กระเทียมไม่ใช่แค่เครื่องปรุงหรือสมุนไพรบ้านๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่แท้ที่จริงแล้วประโยชน์ที่มากมายได้อัดแน่นในกระเทียมนั้น

กระเทียม (Garlic) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Allium sativum ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวใหญ่กลมแป้น มีเยื่อหุ้มสีขาวหนา หนึ่งหัวที่ประกอบด้วยกลีบกระเทียมเล็กๆ ประมาณ 6 – 10 กลีบ แต่ละกลีบมีรูปลักษณะรี ยาวประมาณ 1 – 4 เซนติเมตรและมีเยื่อบางสีขาวหรือสีขาวอมม่วง หุ้มอยู่ประมาณ 2-3 ชั้น ซึ่งทำให้สามารถแยกออกจากส่วนของเนื้อได้ง่ายดาย ล้อมรอบแกนกึ่งกลางอยู่ ลักษณะของเนื้อกระเทียมจะมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน กลิ่นฉุนแรง รสเผ็ดร้อน มีน้ำเหนียวอยู่ในหัว โดยกระเทียมที่เรารู้จักกันนั้นจะมีสองแบบคือ แบบแรกที่มีหลายกลีบอยู่ในหัวเดียวดังที่กล่าวข้างต้น กับกระเทียมโทนที่มีหัวแบบกลีบเดียว และในปัจจุบันนี้กระเทียมที่เรารับประทานกันโดยส่วนมากจะเป็นกระเทียมที่ได้มาจากประเทศจีนเพราะให้เนื้อกระเทียมที่มากกว่ากระเทียมของไทยซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่ถึงแม้กระเทียมของไทยจะมีขนาดเล็ก แต่กลับมีกลิ่นที่หอมฉุนมากกว่ากระเทียมจากประเทศจีน

กระเทียม

แต่อย่างไรก็ตามในด้านโภชนาการ ตลอดจนสรรพคุณที่มีในกระเทียมนั้นก็ไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่า เราจะไม่ได้รับประโยชน์จากกระเทียมเต็มที่ สารที่สำคัญที่มีอยู่ในกระเทียมนั้น คือ allicin, alliin, ajoene, allyldisulfide, diallyldisulfide และสารประกอบที่อยู่ในกลุ่มของ organosulfur ด้วยสารเหล่านี้จึงทำให้กระเทียมนั้นมีกลิ่นฉุนแรง พร้อมทั้งมีสรรพคุณทางยาสูงสุด นอกจากนี้สารที่ไม่ระเหยที่มีอยู่ในกระเทียมอีกคือ สารกลุ่ม gamma-L-glutamyl-S-alkyl-L-cysteines , gamma-glutamyl-S-allylcysteine และ gamma-glutamyl-S-trans-1-propenylcysteine จากการค้นคว้าพบว่า ในกระเทียมมีสารกลุ่ม organosulfur รวมประมาณ 82% ของทั้งหมด

และสำหรับในส่วนสารกลุ่ม thiosulfinates (allicin) สารกลุ่ม ajoenes (E-ajoene และ Z-ajoene) พร้อมทั้งสารกลุ่ม vinyldithiins (2-vinyl-(4H)-1,3-dithiin , 3-vinyl-(4H)-1,2-dithiin) และสารกลุ่ม sulfides (diallyl disulfide , diallyl trisulfide) เป็นสารที่ไม่ได้พบในกระเทียมตามธรรมชาติ แต่จะเกิดจากการย่อยสลายสาร allin ด้วยเอนไซม์ alliinase ทำให้สาร allin สลายตัว และหลังจากนั้นจึงมีการรวมตัวกันใหม่อีกครั้งได้สาร allicin ซึ่งเป็นสารที่ไม่เสถียร และสามารถสลายตัวได้สารกลุ่ม sulfides อื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามแม้ allicin จะเป็นสารที่ไม่เสถียรนัก แต่ด้วยฤทธิ์ และคุณสมบัติของสารชนิดนี้ ได้ถูกนำมาเป็นตัวชูโรงถึงพลังในการบำรุงรักษาร่างกาย ตัวอย่างเช่น

ประโยชน์ของกระเทียม

8 ประโยชน์ของกระเทียม

  1. มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ สารในกระเทียมมีฤทธิ์ต่อต้านจุลชีพได้ในวงกว้าง ทั้งเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมบวก และแกรมลบ อาทิเช่น เชื้อ Shigella sonnei และ Escherichia coli ที่ก่อทำให้เกิดอาการท้องเสียกันมาก กลุ่ม Bacillus spp. , Staphylococus aureus , Streptococcus faecalis , Pseudomonas aeruginosa ที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ เป็นต้น นอกจากนี้เชื้อวัณโรค Mycobacterium tuberculosis ที่ฆ่าให้ตายได้ยากก็สามารถถูกกำจัดได้ด้วย allicin เมื่อรับประทานอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้เชื้อรา Candida spp. ที่มักก่อให้เกิดปัญหากับสาวๆ ที่มักจะมีปัญหาเชื้อราในช่องคลอด เกิดอาการตกขาวแบบอ้วกนมเด็ก ที่มีลักษณะเป็นลิ่มๆ ก็ถูกแก้ไขให้หายจากอาการดังกล่าวด้วย allicin เช่นกัน นอกจากนี้ ajoene , และ diallyl disulfide ยังมีส่วนช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและราได้เช่นเดียวกับ allicin
  2. มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัส ในสารสกัดจากกระเทียมสามารถต้านเชื้อไวรัส Influenza B (LEE) และเชื้อ Parainfluenza type 3 แต่จำเป็นต้องได้รับสารสกัดจากกระเทียมค่อนข้างสูงจึงจะสามารถป้องกันได้
  3. มีฤทธิ์ลดระดับไขมัน กระเทียมในรูปสด และแบบสารสกัด มีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลได้ เนื่องมาจาก สาร allicin และ ajoene มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างคอเลสเตอรอล และมีฤทธิ์ต้านการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือดอีกด้วย
  4. ฤทธิ์ต้านการเกาะของเกล็ดเลือด สารในกระเทียมคือ adenosine , alliin , allicin , ajoenes และ vinyldithiins มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด
  5. มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด allicin ในกระเทียมสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
  6. ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน สารกลุ่ม thiosulfiates ในกระเทียมมีฤทธิ์ต้านออกซิดัน โดยยับยั้งปฏิกิริยา lipid peroxidation ได้
  7. มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต สำหรับบุคคลที่มีความดันโลหิตสูงสาร ajoene รวมทั้ง glutamylpeptides , steroids , triterpenoids, scordinins และ flavovoids ต่างออกฤทธิ์เสริมกันในการลดความดันโลหิตลงได้
  8. มีฤทธิ์ลดการอักเสบ สารสกัดกระเทียมมีฤทธิ์ลดการอักเสบอย่างอ่อนๆ
    จึงมีผลช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งช่วยลดอาการแน่นจุกเสียดในผู้ป่วยที่เป็นแผลในโรคกระเพาะอาหาร ตลอดจนกระเพาะอาหารอักเสบอีกด้วย โดยต่อต้านการสังเคราะห์ prostaglandin ในผู้ที่มีอาการดังกล่าว นอกจากนี้สารสกัดจากกระเทียมยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอก

สรรพคุณของกระเทียม

จะเห็นได้ว่า กระเทียมสมุนไพรกลิ่นฉุน บ้านๆ ที่หลายคนเพิกเฉย กลับมีประโยชน์มากมาย ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และเภสัชวิทยาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อยืนยันสรรพคุณ ทางยาที่เรียนรู้จากคนโบราณ ซึ่งสมุนไพรดีๆ อย่างนี้ต้องบอกต่อ หวังว่า ข้อมูลของกระเทียมทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์ และทำให้ทุกคนหันมารับประทานกระเทียมกันให้มากขึ้นนะค่ะ

1 Star2 Stars3 Stars4 Stars5 Stars (No Ratings Yet)
Loading...